หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

2 วันในปารีส กับเจ้าสัวธนินท์ ชีวิตอีกด้านที่คุณไม่เคยเห็น

2 วันในปารีส กับเจ้าสัวธนินท์ ชีวิตอีกด้านที่คุณไม่เคยเห็น

.
The Secret Sauce เอพิโสดนี้ บอกเล่าจากประสบการณ์ที่ได้รับเกียรติมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เมื่อผมได้คำเชิญจาก คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้ติดตามไปดูการขึ้นพูดของท่านบนเวที OECD: Forum for World Education กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
.
พบกับหลากหลายแง่มุมของเจ้าสัวคนดังที่ไม่ค่อยเปิดเผยที่ไหน พร้อมด้วยวิธีคิดที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องการพัฒนาคน การลงทุนธุรกิจ และการปฏิรูปการศึกษา ที่นี่ที่เดียว
.
OECD คือองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ มักมีตัวเลข สถิติ หรือผลวิจัยที่มีประโยชน์ต่อการทำงานและการวางนโยบาย ล่าสุด OECD ได้จัดงาน Forum for World Education 2019 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่รวมนักธุรกิจ นักการศึกษา และผู้นำรุ่นใหม่ มาเสวนาถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในยุคดิจิทัล เมื่อรูปแบบการทำงานในบริษัทเริ่มเปลี่ยนแปลง การศึกษาก็ถึงเวลาต้องปรับปรุง
.
งานนี้นอกจากคุณธนินท์ที่ไม่ค่อยพูดบนเวทีในที่สาธารณะแล้ว ยังมี คุณแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ที่แม้จะพูดนี้อยู่เรื่อยๆ แต่ทุกครั้งก็ยังให้บทเรียนกับสังคมได้คิดต่อเสมอ ซึ่งแน่นอนว่า การโคจรมาพบกันของสองคนนี้ กลายเป็นไฮไลต์สำคัญของเวทีที่ทุกคนต่างเฝ้ารอ
.
แต่ก่อนจะไปเล่าถึงเนื้อหา ผมขอเล่าความรู้สึกครั้งแรกที่ผมได้เจอกับคุณธนินท์ ตอนนั้นเป็นจังหวะที่ผมกำลังยืนรอลิฟต์ เพื่อขึ้นไปรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับท่านและทีมงาน พวกเขากำชับหลายครั้งว่า ท่านเป็นคนตรงต่อเวลามาก ผมจึงรีบไปถึงสถานที่นัดหมายก่อนเวลาประมาณ 15 นาที แต่ปรากฏว่า ทันทีที่ประตูลิฟต์เปิด คุณธนินท์กลับเดินออกมา เพื่อรอต้อนรับแขกของท่าน ผมตกใจรีบยกมือไหว้ พร้อมคิดในใจว่า ระดับเจ้าสัวแสนล้านยังให้เกียรติลงมารับพวกเราด้วยตัวเอง
.
ผมสังเกตเห็นคุณธนินท์เสียบหูฟัง Airpod ของ Apple ท่านเป็นคนอายุ 80 กว่าที่ยังทันสมัย ใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว ผมจึงชวนท่านคุยเรื่องนี้เล็กน้อย ท่านตอบว่า “กำลังโทร.หา แจ็ค หม่า แต่เขาไม่รับสายเลย” ผมได้แต่แอบตื่นเต้นที่อยู่ใกล้ชิดการโทร.หากันของคนระดับโลกทั้งสอง
.
ความประทับใจอีกครั้งเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารระหว่างมื้อติ่มซำ ผมมีโอกาสได้นั่งติดกับท่าน ทุกเมนูที่นำมาเสิร์ฟ ท่านจะคีบให้ผมก่อนเสมอ เช่นเดียวกับมื้อเย็นที่ท่านก็ตักกับข้าวหลากชนิดให้ผมเช่นเดียวกัน
.
เมื่อพูดถึงเรื่องความตรงต่อเวลา ตอนทานมื้อเย็นอีกวัน ท่านมาสายจากเวลานัดไปเพียงเล็กน้อย ด้วยปัญหาติดขัดเรื่องกระเป๋า แต่ท่านกลับรีบขอโทษทุกคนเมื่อเดินทางมาถึง ทำให้ผมได้ข้อสรุปสำคัญอีกครั้งว่า คนเรายิ่งใหญ่แค่ไหนมักยิ่งถ่อมตัว พวกเขาไม่เคยลืมที่จะให้เกียรติคนอื่น และเคารพเวลาของทุกคนอย่างจริงใจ
.
การเดินทางไปติดตามการทำงานของท่านในครั้งนี้ ทำให้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับท่านหลายประเด็น ทั้งการเมือง สังคม ธุรกิจ แต่เรื่องหนึ่งที่ท่านเน้นย้ำถึงความสำคัญอยู่หลายครั้งคือ การบริหารคน หลังจากทำงานมาทั้งชีวิต สิ่งที่ท่านอยากโฟกัสที่สุดคือเรื่องคน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมท่านถึงได้รับเชิญมาพูดเกี่ยวกับการศึกษา เพราะนั่นหมายถึงการพัฒนาคนในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง
.
ผมสรุป 7 บทเรียนจากการได้ติดตามงานของท่านครั้งนี้ ทั้งจากการพูดคุยกันและเนื้อหาที่ท่านพูดบนเวที
.
1. การเป็นซีอีโอต้องรู้ทุกอย่าง
คุณธนินท์ตั้งคำถามกับผมว่า การทำงานของสื่อในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ท่านสังเกตเห็นผมใช้กล้องตัวเล็กในการทำงาน ท่านเชื่อว่า การใช้เทคโนโลยีให้คล่องเป็นเรื่องสำคัญ ผมตอบเสริมไปว่า นอกจากการถ่าย ผมยังต้องอัดเสียง ลงเสียงเอง และเขียนงานด้วยตัวเอง ทุกคนต้องทำเป็นทุกอย่าง ไม่มีการแบ่งหน้าที่ใครหน้าที่มันชัดเจนเหมือนสมัยก่อน
.
“ใช่เลย ซีอีโอในยุคนี้ต้องรู้ทุกอย่าง” ท่านตอบกลับ พร้อมยกตัวอย่างเรื่องบัญชี การเงิน การขาย โลจิสติกส์ ต้องรอบรู้ให้กว้าง การทำงานแบบไซโลต้องหมดไป
.
นักธุรกิจต้องกล้าใช้ของใหม่ กล้าลงทุนเทคโนโลยีคุณภาพสูง อย่าคิดว่าตัวเองอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา หรือธุรกิจยังให้ผลตอบแทนไม่มาก การลงทุนอาจไม่คุ้มค่า ท่านเชื่อว่า ต้องลงทุนสูงไว้ก่อน แล้วเดี๋ยวต้นทุนจะต่ำลงเอง ที่สำคัญซีอีโอต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและรู้จักใช้ให้เป็น คุณอาจไม่จำเป็นต้องรู้ว่า ซอฟต์แวร์เขียนอย่างไร แต่ต้องรู้ว่า มันคืออะไรและใช้ไปทำไม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจมากที่สุด
.
2. สังคมคือโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุด
การศึกษาในโรงเรียนไม่สามารถทำให้คนเก่งขึ้นได้มากนัก ยิ่งในยุคปลาเร็วกินปลาช้า คนต้องรู้เร็ว สำเร็จเร็ว ที่สถาบันพัฒนาผู้คนของซีพี เชื่อว่า แค่เวลา 3-6 เดือน พนักงานก็สามารถขึ้นเป็นผู้จัดการได้ หรือเริ่มทำกำไรให้ธุรกิจได้เช่นกัน
.
หัวใจสำคัญของการทำให้สำเร็จเร็วสำหรับคุณธนินท์คือ ต้องสัมผัสของจริง ถ้ามัวแต่สอนอยู่ในห้องเรียนตามทฤษฎี ทุกคนอาจเข้าใจเรื่องเดียวกันในมุมที่ต่างกัน แล้วแต่คนจะทำความเข้าใจหรือเลือกจับประเด็นแบบไหน แต่ถ้าลงมือทำ ทุกคนจะเข้าใจตรงกันทั้งหมด การเรียนรู้แบบนี้เป็นสิ่งที่ท่านใช้กับตัวเองมาตลอดชีวิต
.
เนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือความสำเร็จดีใจได้วันเดียว เคยเล่าถึงที่มาก่อนเปิด 7-Eleven เมื่อคุณธนินท์ตัดสินใจขอซื้อแฟรนไชส์ร้านนี้กับชาวต่างชาติ พวกเขาเตือนว่า “อย่าทำเลย เจ๊งแน่นอน เพราะค่าครองชีพคนไทยต่ำกว่าคนอเมริกันหลายเท่าตัว” แต่คุณธนินท์ไม่เชื่อคำทัดทานและตื๊อจนพวกเขาใจอ่อนยอมขายในที่สุด
.
“เพราะอะไรถึงมั่นใจว่ามันจะสำเร็จ” ผมยกเรื่องนี้ไปถามท่านอีกครั้ง ท่านตอบ “เพราะผมเคยไปนั่งนับจำนวนคนที่เดินผ่านไปมาตลอดทั้งวัน ในทำเลแรกที่ตั้งใจจะเปิด 7-Eleven มันมี 1,500 คน จึงมั่นใจว่า สำเร็จแน่” นั่นคือตัวอย่างการสัมผัสจริงที่ท่านทำ
.
เสริมเรื่องการลงทุนอีกสักนิด ผมยังชวนท่านคุยถึงอีกหลายธุรกิจที่ซีพีเข้าไปลงทุนแต่คนอาจยังไม่รู้จัก ทั้งรถยนต์ เครื่องบินเจ็ต มอเตอร์ไซค์ สิ่งทอ และอื่นๆ ธุรกิจพวกนี้มีจำนวนมหาศาลเสียจนนับไม่หมด ถึงขั้นผู้บริหารที่ทำงานใกล้ชิดกับท่าน เล่าให้ผมฟังว่า ถ้าต้องปักหมุดโรงงานทั้งหมดที่ซีพีมีส่วนเกี่ยวข้องลงในแผนที่ Google Map ใช้เวลาทั้งวันก็ยังไม่หมด ยังไม่รวมออฟฟิศและสำนักงานต่างๆ
.
ท้ายสุด ผมถามตามประสาคนสนใจเรื่องธุรกิจ “ถ้าอยากลงทุนในธุรกิจใหม่ ควรดูจากอะไร”
.
ท่านตอบโดยสรุปว่า มันเป็นเซนส์เฉพาะตัวที่เล่าไม่ได้ทั้งหมด แต่ที่แน่ๆ หากอยากลงทุนธุรกิจใหม่ อย่าสนใจแค่เรื่องเงินทองหรือตัวเลข แต่ขอให้โฟกัส 2 เรื่องที่เกี่ยวกับอนาคต 1. อนาคตของธุรกิจ ลองถามตัวเองก่อนว่า ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตได้ไหม ทำรายได้ต่อไปมากน้อยแค่ไหน และเป็นส่วนต่อขยายของบริษัทที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่ 2. อนาคตของโลก ธุรกิจนั้นสอดคล้องกับเทรนด์โลกไหม แล้วค่อยพิจารณาเลือกจากคำตอบอีกครั้ง
.
3. ลดจำนวนการเรียนในระบบ
ไม่ใช่แค่ลดจำนวนชั่วโมง แต่ลดกันเป็นระดับปี
.
ท่านเสนอแนวคิดเรื่องการลดเวลาเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายไปอย่างละ 1 ปี มหาวิทยาลัยอีก 2 ปี รวมทั้งหมดเป็น 4 ปี ทำให้เด็กจะเรียนจบมหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 18 คุณธนินท์คิดว่า เด็กสมัยนี้ฉลาดกว่าสมัยก่อน ต้องเรียนจากสังคมให้มากขึ้น เด็กยุคก่อนอาจยังใช้ความรู้จากห้องเรียนไปประยุกต์ต่อในชีวิตจริงได้ แต่เด็กสมัยนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น เด็กต้องออกมาเรียนรู้ให้เร็วที่สุด
.
ถือเป็นแนวคิดที่น่าโยนลงมาในสังคมให้คนได้ดีเบตหรือถกเถียงกันต่อไป
.
ผมถามต่อว่า แล้วความเชี่ยวชาญหรือทักษะเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรม การแพทย์ หรือกฎหมาย ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ จะทำอย่างไร คุณธนินท์ตอบว่า หากเป็นความรู้เฉพาะทางให้ไปศึกษาต่อตามที่จำเป็น
.
“เด็กสมัยนี้ฉลาดกว่าคนสมัยก่อน เราต้องสนับสนุนให้เขาเรียนจากสังคม เพราะเรียนจากโรงเรียนยังได้น้อยกว่าสังคม ผมเองก็เรียนจากสังคมมาทั้งชีวิต ปัจจุบันก็เรียนจากเด็กรุ่นใหม่ เรียนจากความคิดใหม่ๆ ของเด็ก คุณอย่าไปมองข้าม คนที่อายุมากจะไม่ก้าวหน้า เพราะนึกว่าตัวเองเก่งที่สุด ผมยังเรียกเด็กรุ่นใหม่ว่าอาจารย์ เพราะเขาเก่งกว่าเราด้านใดด้านหนึ่งเสมอ
.
4. ทำให้อาชีพครูมีเกียรติ
อีกข้อเสนอที่คุณธนินท์กล่าวในงานวันนั้นคือ การเพิ่มเงินเดือนอาชีพครูให้ได้มากที่สุด และไม่ลืมที่จะให้ความเคารพให้เกียรติพวกเขามากกว่าทุกวันนี้ เพราะในสังคมไทย อาชีพครูกลายเป็นตัวเลือกอันดับท้ายๆ ที่คนจะสมัครเรียน แต่คุณธนินท์อยากให้ความคิดเรื่องนี้ถูกเปลี่ยนแปลง เพราะหลังจากนี้การเรียนจะเปลี่ยนไป การสอนในออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้น ครูสามารถกระจายความรู้จากห้องเรียนที่มีนักเรียนแค่ 40 คน ไปสู่ออนไลน์ที่เพิ่มจำนวนได้ถึง 1 แสนคน
.
บางประเทศเริ่มใช้เทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับการเรียนการสอนวิธีนี้แล้ว ครูที่มาสอนจะเป็นคนที่มีความรู้สูงสุดในสาขาวิชาต่างๆ โดยนักเรียนสามารถรวบรวมส่งคำถามที่สงสัยไปให้ครูช่วยอธิบายเพิ่มเติมได้
.
ผมเชื่อว่า แนวคิดนี้อาจต้องใช้เวลาคิดกันต่อไปว่า สามารถทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน แต่เป็นเรื่องน่าสนใจที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หลังจากนี้
.
5. ผู้นำที่ดีต้องซื้อด้วยใจ ไม่ใช่ให้อำนาจ
คำว่า ‘ใจ’ในทีนี้ หมายถึงการให้ความรักและการสนับสนุน ถ้าอยากให้ทีมงานทำงานกันอย่างเต็มที่ ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. โอกาสและอำนาจ 2. เกียรติยศ 3. เงิน
.
หลายครั้งซีพีก็ไม่สามารถดึงดูดคนเก่งไว้กับองค์กรได้ เพราะไม่ได้ให้โอกาสพวกเขาทำงานด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ เรื่องแบบนี้ให้เงินเดือนเท่าไรก็ไม่พอใจ ฉะนั้น ผู้นำต้องซื้อด้วยใจ หมั่นให้โอกาสคนทำงานเก่งๆ ไม่ต้องตรวจสอบใกล้ชิดมากนัก และอย่าลืมใช้คนให้ถูกในทางที่เขาถนัด แล้วเอาเวลาของตัวเองไปหาสิ่งใหม่ต่อยอดธุรกิจไปเรื่อยๆ แทน
.
6. เป็นห่วงเรื่องเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีวินัย
ในโรงเรียนสอนความเป็นผู้นำของซีพี คุณธนินท์จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่มาจากหลากหลายพื้นที่ได้ลองเลือกผู้นำด้วยตัวเอง ทดลองให้พูดคุยกัน เผชิญปัญหาด้วยกัน ลดความขัดแย้งด้วยการวิจารณ์แบบ 360 องศา การทำเช่นนี้มีข้อดีตรงที่ท้ายสุด คนที่ไม่เก่งมากพอจะโดนคัดออกไปจากกลุ่มเอง เป็นวิธีคิดคล้ายกับกลุ่มสตาร์ทอัพ
.
“ผู้นำที่ดีต้องชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ ไม่ทำให้ความสนุกของการทำงานเป็นอันต้องสะดุด การชี้นำทำให้ผู้สั่งถูกชี้หน้ากลับ หากเขาทำผิดพลาด แต่ถ้าแค่ชี้แนะ พวกเขาจะเป็นคนรับผิดชอบด้วยตัวเอง” นี่คืออีกแนวคิดเรื่องผู้นำของคุณธนินท์
.
7. เรียนรู้ผ่านการฟัง
คุณธนินท์เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ผ่านการฟัง ท่านมักยกย่องเด็กรุ่นใหม่เป็นอาจารย์ของตัวเอง มักเชิญชวนคนกลุ่มนี้มาทานข้าวร่วมกัน เพื่อสอบถามและพูดคุยอยู่บ่อยครั้ง แต่หากมีประเด็นข่าวที่น่ารู้น่าสนใจ จะมีคนคอยสรุปประเด็นให้ท่านได้ทำความเข้าใจอีกที
.
ระหว่างทานข้าว ผมแอบถามถึงกิจกรรมที่ท่านชอบทำนอกเหนือจากเวลางาน ท่านเล่าว่า ตัวเองเป็นคนให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย ว่ายน้ำแทบทุกวัน และต้องว่ายจนกว่าจะเหนื่อยหอบ เพื่อให้ร่างกายได้ออกแรงเต็มที่ บางครั้งกลางวันก็นั่งสมาธิพักผ่อน ขจัดเรื่องเครียดๆ ออกจากสมอง ท่านมักให้เวลากับความเครียดไม่เกิน 1 วัน มากกว่านั้นไปเครียดเรื่องใหม่แทน ส่วนอาหารการกินก็ง่ายๆ โดยมากมักเป็นอาหารของซีพี เพื่อตรวจสอบสินค้าและชอบรสชาติเป็นการส่วนตัว
.
พอได้ยินชื่อเมนูประจำที่ท่านเลือกรับประทาน มันก็ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงเรื่องราวบนโต๊ะอาหารเย็นกับท่านอีกครั้ง วันนั้นพนักงานบริการไล่ชื่อเมนูให้ทุกคนฟังพร้อมกัน มีหลายชื่อเป็นเมนูหรูหรา แต่เมื่อไล่จนครบ ท่านกลับขอสั่งอาหารเพิ่มหนึ่งจานด้วยเมนูที่ทุกคนนึกไม่ถึง
.
“ขอข้าวไข่เจียวด้วยนะ”
.
จริงอยู่ว่า การได้พูดคุยและใกล้ชิดเพียง 2 วัน คงบอกตัวตนของคนไม่ได้ทั้งหมด ตัวคุณธนินท์เองก็มีหลายแง่มุมที่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองอย่างไร บางคนก็เห็นเป็นสีขาว สีเทา หรือสีดำ แต่การเลือกเมนูธรรมดาๆ จานนี้ และอีกหลายความธรรมดาที่คนอื่นไม่เคยเห็น แต่ผมสังเกตเห็น ก็น่าจะบอกอะไรได้หลายอย่างเหมือนกัน
.
ฟังได้ที่นี่ครับ https://youtu.be/GDY9Iz-6hH4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น